วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


ปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเครือข่ายการศึกษา”
โดย ฯพณฯ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
ในการสัมมนาเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง
วันเสาร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๐๙.๑๕-๑๐.๐๐ น.
ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เรียน ท่านประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงและกรรมการทุกท่านที่ได้กรุณามาร่วมการสัมมนาวันนี้ ท่านผู้มีเกียรติ ครูบาอาจารย์และนักเรียนจาก โรงเรียนต่างๆ ที่ได้อุตส่าห์มาค้นหาและความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
จากคำกล่าวของท่านอาจารย์ ดร.จิรายุฯ (ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง) เราพอจะทราบความเป็นมา ความสำคัญและความหวังที่เราตั้งไว้ว่า ถ้าสังคมไทยได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนองค์กร หรือว่าในโรงเรียน ก็น่าจะทำให้สังคมไทยมั่นคงขึ้น แล้วก็มีสันติสุขมากขึ้น
ในระหว่างการสัมมนาสองวันนี้ กิจกรรมนอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ที่ผมจะใช้เวลาสักชั่วโมงหนึ่งพูดให้พวกเราฟัง หลังจากนั้นผู้แทนของโรงเรียน เครือข่ายทั้งหมด ๙ โรงเรียนจากทุกภาคส่วนของประเทศ ก็จะมานำเสนอ ทั้งครูทั้ง นักเรียนจะมานำเสนอว่า ที่เขาพยายามแปลความ ปรัชญาฯ นี้ลงไปสู่กิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ออกมาเป็นอย่างนี้ แล้วพวกเราก็มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้น ในที่ประชุมนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นผู้แทนโรงเรียนต่างๆ อีกหลายโรงจากทุกภาคส่วนมานั่งฟัง มานั่งดูด้วยความสนใจ ถ้าฟังไปก็อาจจะเกิด ความคิด ความอ่านอะไรไป แล้วเมื่อกลับไปที่โรงเรียนของท่านหรือเครือข่ายโรงเรียน ของท่าน ก็อาจจะเกิดความคิดเพิ่มเติมขึ้นมา ก็อาจจะลงมือทำ ได้รูปธรรมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มโรงเรียนของท่านก็ได้
ที่มาร่วมสัมมนากับเรา นอกจากกลุ่มโรงเรียน ๒ กลุ่ม คือ โรงเรียนเครือข่ายและโรงเรียนสังเกตการณ์แล้ว ยังมีผู้แทนของหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ และ ภาคประชาชนมาร่วมอีกมากมาย ซึ่งผมจะขออนุญาตไม่กราบเรียนรายชื่อทั้งหมดนะครับ แต่ว่า ถึงแม้ว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มี

ความเข้มข้น และมีความสำคัญ เพราะว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษารูปแบบการนำปรัชญาฯ นี้ไปใช้ และหลังจากนั้นเราจะสรุปบทเรียนกันและนำไปเผยแพร่ต่อไป
ผมขอเปิดการประชุมสัมมนา และขอขอบคุณผู้จัด และขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในพระราชดำริที่ได้กรุณาจัดสถานที่ให้เรา ให้ความสะดวกอย่างดียิ่ง ถึงฝนจะตกลงมา ก็เป็นฝนที่ให้ความชุ่มฉ่ำ เพราะฉะนั้น ก็หวังว่าพวกเราจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเมื่อกลับไปแล้ว ก็จะเกิดแรงกระตุ้น แรงดลใจที่จะไปเผยแพร่และไปลงมือทำ
ก็จะขออนุญาต พูดถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะพยายามนำเสนอบริบทอื่นๆ ก่อนที่จะนำเสนอตัวปรัชญาฯ ซึ่งจริงๆ ตัวปรัชญาฯ เองนั้น เข้าใจไม่ยาก เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ง่าย และความที่เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ทำให้พวกเรามองข้ามไป จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้พวกเราดูว่า มันอยู่ใกล้ตัวเรา และทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมจะขออนุญาตนำเสนอบริบทก่อน และวิธีนำเสนอบริบทที่ดีก็คือว่า ไปดูจากผลงานของนักวิชาการต่างๆ ที่เขาได้ศึกษาและประมวลไว้เกี่ยวกับ วิธีทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว
ผมขออนุญาตเริ่มต้นโดยอัญเชิญ พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวตอนที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ถ้านักเรียนจำได้ ปีหน้าจะเป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ความหมายคืออะไร ความหมายคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มาจะเป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน และตอนที่ท่านขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ท่านได้ประกาศให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ ถ้าเป็นภาษาธรรมดา ก็คือรับรู้ถึง เจตนารมณ์ แต่ว่าถ้าเป็นภาษาที่ใช้กับพระเจ้าอยู่หัว เราเรียกว่า พระปฐมบรมราชโองการ เพราะว่ามีรับสั่งกับประชาชนทั่วประเทศ ประโยคสั้นๆ และพวกเราก็ได้ยินบ่อยมาก คือ
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
ผมอยากจะเชิญชวนให้พวกเราลองวิเคราะห์ประโยคนี้ ประโยคนี้จะมีสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือ ส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ ส่วนที่สองก็เป็นวิธีการ อยากจะบอกอย่างนี้ว่า เวลาจะทำอะไร ขอให้ตั้งเป้าหมายวัตถุประสงค์ไว้ แล้วหลังจากนั้นมาคิดวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีเป้าประสงค์ของพระองค์ท่านอย่างไร ดูได้จากประโยคนี้ พวกเราลองดู และลองเดาซิครับว่า เป้าประสงค์ของพระองค์ท่านคืออะไร เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทยหรือชาวสยาม
คราวนี้ พระองค์ท่านจะทรงมีวิธีนำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนอย่างไร ท่านก็บอกไว้เรียบร้อยว่า วิธีของท่านคือ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม โดยธรรมะ และ ๖๐ ปีที่

ครองราชย์ท่านก็ได้ทรงพิสูจน์ให้ประชาชนคนไทยและชาวโลกได้เห็นชัดว่า ท่านได้ทรงดำเนินตาม หรือมีพระราชกรณียกิจตามนี้เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม
ผมอยากให้พวกเราทุกคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ทำไมเราต้องทำ ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร และคำถามที่สองคือ ถ้าเราต้องการประโยชน์อย่างนั้น วัตถุประสงค์อย่างนั้นของปรัชญาฯนี้ เรามีวิธีทำอย่างไร เหมือนอย่างภาษาฝรั่งใช้คำว่า End หรือ เป้าประสงค์ กับ Means คือวิธีการ ผมขอใช้ง่ายๆ ว่า เป้าประสงค์กับวิธีการ
อย่างเช่นเราเรียนหนังสือ เรากำลังเรียนอยู่มัธยมปลาย เป้าประสงค์เราคือ เรียนจบมัธยมปลาย ส่วนวิธีการ เราก็มีวิธีการของเรา เราจะดูหนังสืออย่างนั้นอย่างนี้ เราจะท่องบทเรียนอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะทำโครงการอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะเป็นเด็กดีอย่างนั้น อย่างนี้ อันนั้นคือวิธีการ เพราะฉะนั้น อันแรกสุดเลย ผมอยากจะกราบเรียนพวกเราว่า จะทำอะไรต้องกำหนดเป้าหมาย อันที่สองเมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว ต้องกำหนดวิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมาย ในความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงประกาศเป้าหมายไว้แล้วคือ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม โดยวิธีการ ที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมะ
เรื่องที่สองนี้อยากจะเชิญชวนพวกเรามาดูเป้าหมาย เป้าหมายของการเป็น พระมหากษัตริย์ของพระองค์ท่าน อันนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ ในหนังสือเล่มเล็กชื่อ ดุจดวงตะวัน มีคนรวบรวมไว้ หลายคนเคยเห็นแล้ว สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำประจำอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ และสมเด็จพระศรีฯ ทรงคิดหาวิธีการต่างๆ ที่จะ ยกฐานะความเป็นอยู่คนไทยให้ดีขึ้น
ทีนี้ขั้นตอนล่ะ กราบเรียนอย่างนี้ว่า ถ้าเราจะศึกษาวิธีทรงงานและพระราช กรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีจุดต่างๆ ให้ศึกษาเยอะมาก ๖๐ ปีที่ พระองค์ท่านทรงครองราชย์ พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อคนไทยมากมาย ผมพอจะจับกลุ่มได้ง่ายๆ อย่างนี้
กลุ่มแรกคืองานที่เราเรียกกันว่า โครงการหลวง ซึ่งมีอยู่ใน ๕ จังหวัดใน ภาคเหนือ มีสถานีอยู่ ๓๗ สถานี ทั้งสถานีวิจัยและสถานีส่งเสริมการเกษตรบนที่สูง ขณะนี้ องค์ความรู้ของโครงการหลวงที่ทำมา ๓๐ กว่าปี กลายเป็นองค์ความรู้ในเรื่อง การจัดการชุมชนบนที่สูง หรือบนดอย รวมทั้งเทคโนโลยีของการเกษตรที่สูง และเป็น ตัวอย่างของประเทศต่างๆ ทำสัมมนาระดับนานาชาติไปแล้วหลายครั้ง

กลุ่มที่สองคือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยประมาณ ๓๐๐๐ โครงการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดูแล และก็ได้มีนักวิชาการจากสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไปศึกษาที่ กปร.และมาสรุปว่าได้บทเรียนอะไรบ้าง จากการศึกษาการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดี๋ยวผมจะ กราบเรียนรายละเอียดกับที่ประชุมในภายหลัง เพื่อที่เราจะได้ใช้เป็นบทเรียนในการที่ จะนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม มาแปลงให้เป็นรูปธรรมของแต่ละโรงเรียน นอกจากนี้แล้ว ถ้าเราไปเหลียวดูกระแสพระราชดำรัสซึ่งพระราชทานไว้ในโครงการต่างๆ ๓๐๐๐ กว่าโครงการ เราก็จะเห็นแนวทางที่จะไปทำให้ปรัชญาฯ นั้นแปลงมาเป็นกิจกรรมในโรงเรียนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ก็มีศูนย์การศึกษาพัฒนาทั้งหมด ๖ แห่ง ตามภูมิภาคต่างๆ ภาคละหนึ่งแห่ง ซึ่งควรแก่การไปศึกษาทั้งนั้น และที่เราจะมาอยู่ที่นี่วันครึ่งสองวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในหก เราก็จะมีโอกาสได้ศึกษาว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เขาทำอะไร ผมกราบเรียนตรงนี้ว่า ถ้าโรงเรียนสนใจที่นี่ จะใช้เป็นห้องทดลองจริงของ ชุมชน เอาปัญหาของชุมชนมาเป็นโจทย์ตั้ง หาสาเหตุของปัญหา หาเป้าหมายของการ แก้ปัญหาและการพัฒนา แล้วก็หาทางที่จะไปสู่การแก้ปัญหาในการพัฒนา ก็สามารถทำได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า เอาปัญหาของชุมชนและแนวทางการพัฒนาชุมชน เอามาจับโดยหลักอริยสัจสี่ แล้วดำเนินการตาม
อีกเรื่องหนึ่งก็คือมูลนิธิตามพระราชประสงค์เฉพาะด้านต่างๆ ซึ่งมีมากมายก่ายกอง จะไม่กราบเรียนในที่ประชุม แต่ถ้าใครสนใจ ก็ควรไปศึกษาว่ามีมูลนิธิใดบ้าง ซึ่งช่วยเหลือพสกนิกรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ตรงนี้จะเป็นแบบอย่างได้อย่างดี
นอกจากนั้น ก็ยังมีพระบรมราโชวาท กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆมากมาย ที่ผมรวบรวมไว้ทั้งหมด ๗-๘ โอกาสด้วยกัน แต่จะไม่ขออนุญาตพูดที่นี้ จะขอเลยไปอีกส่วนหนึ่งว่า การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีคนศึกษาและสรุปไว้ว่า ทรงมีขั้นตอน การทรงงานของพระองค์ท่านมีขั้นตอน ผมอยากให้พวกเราโรงเรียนที่จะอัญเชิญปรัชญาฯนี้ไปใช้ ขอให้นึกถึงขั้นตอนเวลาไปทำ ขอให้นึกถึงการทำแบบมีขั้นตอน ไม่ก้าวกระโดด ไม่ข้ามขั้นข้ามตอน ขอให้นึกถึงขั้นตอนไว้ อันนี้มาจากคำประกาศราชสดุดี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรไปรวบรวมมาในวันทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อหลายปีมาแล้ว
พระราชกรณียกิจที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงปฏิบัติในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ของเกษตรกรในทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ตลอดระยะเวลาทั้งหมดถ้วน ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา

(ตอนนั้นคือ ๒๕๓๙ ขณะนี้กำลังจะเป็น ๖ ทศวรรษ) ได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพ ในด้านการส่งเสริมการเกษตรอย่างแท้จริง ทรงยิ่งด้วยพระวิจารณญานทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
ขอขีดเส้นใต้ตรงนี้ว่า เวลาจะทรงงานเพื่อไปช่วยเกษตรส่งเสริมเกษตรนั้น จะใช้พระวิจารณญานทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อกี้ท่านอาจารย์จิรายุฯ พูดถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่า มีทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ เวลาทรงงาน พระเจ้าอยู่หัวจะทรงนึกถึงทฤษฎีและปฏิบัติเสมอ อันเป็นผลจากการทรงศึกษาค้นคว้า และทดลองด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่ถ่องแท้ในพระราชหฤทัยว่า เป็นทฤษฎีที่ใช้ได้และเป็นการปฏิบัติ ที่ก่อให้เกิดผลดี
ผมขีดเส้นใต้ตรงนี้ เพราะอยากให้พวกเรานำเอาตรงนี้ไปเป็นตัวอย่างของ การทำงานในอนาคต เวลาจะทำอะไรต้องนึกถึง ทฤษฎีที่ใช้ได้และการปฏิบัติที่เป็นผล และการจะรู้ว่าทฤษฎีใช้ได้และปฏิบัติได้ผลนั้น ก็ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและทดลองด้วย พระองค์เอง ยกตัวอย่างได้ทุกตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหญ้าแฝกที่ทรงค้นคว้าทดลองด้วยพระองค์เองจนแน่ใจว่าเป็นทฤษฎีใช้ได้และปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดผลดี แล้วจึงจะ พระราชทานเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้และเทคโนโลยีนั้นๆแพร่หลายไปสู่ปวงพสกนิกรที่ทรงห่วงใยอย่างกว้างขวางสืบไป จะไม่ทรงมี วิจารณญานและรับสั่งว่า ต้องเผยแพร่ทันทีนี้ไม่ใช่ แต่ทรงทดลองก่อน ศึกษาค้นคว้า ทดลองจนแน่พระทัย อันนี้เป็นตัวอย่าง นักเรียนทั้งหลายโตขึ้นจะไปทำงานหรือ เรียนหนังสือ ก็ขอเตือนว่า ตรงนี้จะเป็นบทเรียนให้เราได้ จะทำอะไรต้องนึกถึงหลักวิชา หรือหลักทฤษฎีให้ถ่องแท้ก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงออกแบบหลักปฏิบัติ
ทีนี้มาดูเรื่องขั้นตอน พระราชกรณียกิจที่ช่วยเหลือพสกนิกรเป็นที่ประจักษ์ แก่สากลว่า ทรงเน้นการช่วยเหลือในลักษณะให้การศึกษาแก่พสกนิกรเพื่อให้สามารถ พึ่งพาตนเองได้ในเบื้องต้น และพัฒนาไปสู่การสร้างความเจริญให้แก่ชีวิตและครอบครัวเป็นลำดับถัดไป จนถึงสามารถช่วยเหลือสังคมและชุมชนของตนได้ในที่สุด โดยทรงเน้นการช่วยเหลือให้การศึกษาแก่พสกนิกร เราพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ พูดถึงเรื่องสังคมของ การเรียนรู้ ทรงแนะนำและทำมาทั้งหมด ๖๐ ปีว่า ลักษณะการช่วยเหลือต้องเป็นแบบให้การศึกษาเพื่อให้พึ่งตนเองได้ในเบื้องต้น
เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนไหนจะเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับนักเรียน กับครูบาอาจารย์ คิดว่า เริ่มต้นที่สุดต้องเริ่มที่แต่ละคนนำไปใช้ก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ไปที่ครอบครัว แล้วไปที่โรงเรียน หลังจากนั้นก็ไปที่ชุมชน ค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าจะบอกว่า จะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อเมื่อมาถึงโรงเรียน แต่ที่บ้านฉันไม่ใช้ ที่บ้านฉันไม่ทำ หรือตัวฉันเองฉันไม่ทำ ก็ไม่ถูก ต้องทำเป็นขั้นๆ ไป ต้องเริ่มต้นจาก

ตัวเรา พึ่งพาตนเองได้ในเบื้องต้น ต่อไปก็คือสร้างความเจริญให้กับชีวิต สร้างความเจริญให้กับครอบครัว แล้วไปช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนได้ต่อไป ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นขั้นๆ ที่ต้องค่อยสร้าง ฐานราก ที่เมื่อกี้อาจารย์จิรายุฯ ยกตัวอย่างว่า เป็นเสาเข็ม ต้องค่อยเริ่มจากตรงนี้ไป ถ้าบอกว่า ฉันจะทำเฉพาะระดับโรงเรียน เฉพาะชุมชน แต่ที่บ้านฉันไม่ต้อง ตัวฉันเองก็ไม่ต้อง อันนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ ก็ขอฝากตรงนี้ไว้
เมื่อกี้ฝากเรื่องแรกคือ จะทำอะไรต้องกำหนดเป้าหมายแล้วก็วิธีการ เรื่องที่สองคือ จะทำอะไรต้องนึกถึงทฤษฎีและปฏิบัติ ทดลองให้ได้เรื่อง เรื่องที่สามคือถ้าจะเอาปรัชญาฯนี้ไปใช้ขอให้เริ่มเป็นขั้นๆไป เริ่มจากตัวเราครูและนักเรียน เริ่มจากตัวเราผู้บริหารแล้วค่อยๆขยายออกให้ครอบคลุม
เมื่อสักครู่ได้พูดแล้วว่ามีคนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๓๐๐๐ โครงการที่ กปร. แล้วสรุปว่า ในการศึกษาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัว จะมีคำเหล่านี้เกิดขึ้นมาบ่อยๆ คือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ
เราเลยมาร้อยเป็นขั้นๆ ว่า จะทำอะไรขอให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีศรัทธาที่ถูกต้อง และจะทำอะไรเพื่อใคร เมื่อกี้บอกแล้วว่า จะต้องเป็นการกำหนดที่ถูกต้องว่า จะเป็นประโยชน์ต่อใคร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะเอามาใช้ในโรงเรียนนี้ ทำเพื่อใคร ทำเพื่อให้ผู้อำนวยการได้ซี ๙ หรือ ไม่ใช่ ผิด ทำเพื่อใคร ต้องมีหลักคิดที่ถูกต้อง
อันที่สองเมื่อตั้งใจจะทำแล้ว เราต้องวิ่งไปหาหลักวิชาหรือทฤษฎีที่แน่นอน ให้ เข้าใจว่าเป็นหลักทฤษฎีที่ใช้ได้ แล้วจึงมากำหนดเป็นหลักปฏิบัติที่ต้องได้ผล ตรงนี้ ขอฝากว่า อย่าข้ามขั้น อย่าพอคิดปุ๊บ ทำปั๊บ แล้วไม่ถูกหลักวิชา จะทำให้พลาดได้
เราจะมีโอกาสได้ไปดูตัวอย่างที่โรงเรียนมกุฏเมืองฯ เขาสร้างเครือข่ายโรงเรียนเพื่อรักษาและฟื้นแม่น้ำประแส ซึ่งมันตายไปแล้ว แล้วก็ฟื้นขึ้นมา มีปลาขึ้นมา ตรงนั้น ก็คือว่า เมื่อมีหลักคิดเบื้องต้นว่าจะฟื้นแม่น้ำที่มันเน่าไปแล้ว การฟื้นแม่น้ำ อันนั้นเป็นหลักคิดที่ถูกต้อง อันที่สองแล้วมีหลักวิชาอะไรบ้าง ผู้อำนวยการโรงเรียนมกุฏเมืองฯ ได้เล่าให้ฟังว่า แม่น้ำมี ๓ ตอน ตอนที่น้ำกร่อยปากน้ำ ตอนที่น้ำกร่อยน้อยหน่อย และตอนที่อยู่ต้นน้ำน้ำจืด แต่ละตอนนี้ต้องการหลักวิชาที่ไม่เหมือนกันเลย การจัดการ แหล่งน้ำที่น้ำกร่อยเอย กร่อยน้อยเอย น้ำจืดเอย มันจะไม่เหมือนกัน มันจะมีหลักวิชาของมัน และท่านก็เล่าให้ฟังว่า การจัดการตรงนี้ นอกจากจะได้ประโยชน์โดยเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ในการเป็นห้องแล็บสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่เรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาชีววิทยาอีกด้วย อันนี้ไปสู่หลักปฏิบัติที่บูรณาการได้ เพราะฉะนั้นฝากนักเรียนไว้ จริงๆ แล้ว ครูก็ได้ นักเรียนก็ได้ นักเรียนจะทำอะไรต้องมีหลักคิด หลักวิชาและหลักปฏิบัติ

คราวนี้มาถึงหลักวิชาเกี่ยวกับการพัฒนา อันนี้ผมกราบเรียน อยากจะฝาก ครูบาอาจารย์ ผู้บริหารและนักเรียนด้วยว่า ถ้าเราจะเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไป แปลงเป็นกิจกรรม ครูนักเรียนควรจะคิดถึงวิธีทำงานอย่างไร เรามาเรียนรู้จากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัสในกลุ่มโครงการตามพระราชดำริทั้ง ๓๐๐๐ โครงการ แล้วมีนักวิชาการจากสถาบันราชภัฎ เขาไปดึงมา ผมเอามานำเสนออีกที
ข้อแรกเลยคือ การพัฒนาต้องเกิดจากภายในจึงจะมั่นคง ถ้าเราจะเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปที่โรงเรียนลำพูน ต้องสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งของโรงเรียนลำพูนก่อน แล้วค่อยๆพัฒนาขึ้นมาจากนั้น ท่านบอกว่าทรงใช้คำว่า ระเบิดจากภายใน ซึ่งหมายถึงความเจริญเกิดจากภายใน แล้วค่อยๆปรากฏออกมาภายนอก มิใช่เอาความเจริญจาก ภายนอกเข้าไปพอกหรือไปห่อหุ้ม ถ้าโรงเรียนลำพูนต้องการเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กำหนดกิจกรรม ก็ต้องให้ครูและนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ทฤษฎี หลักคิด หลักวิชาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจ เสร็จแล้วจึงตกลงร่วมกันว่า ภายใต้บริบทของโรงเรียนลำพูนนี้ เราจะกำหนดกิจกรรมอะไร เพื่อสะท้อนปรัชญาฯนี้ได้ดีที่สุด ภายใต้ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ของโรงเรียนลำพูน เรามาดูตัวอย่างของโรงเรียนมกุฏเมืองฯ ที่นี่ เรามาดูตัวอย่าง มาดูวิธีคิดว่า เขามีหลักคิด หลักวิชาอย่างไร แล้วเขากำหนดหลักปฏิบัติอย่างไรที่มกุฏเมืองฯ แต่พอกลับไปลำพูน เราไม่มีแม่น้ำประแส เราต้องคิดภายในบริบทนั้น แล้วระเบิดขึ้นมาจากภายใน โรงเรียนอื่นก็เช่นเดียวกัน ทราบมาว่ามีโรงเรียนจาก กทม. มาด้วย โรงเรียนใน กทม. ก็เหมือนกัน เราสามารถเจริญจากภายในโรงเรียนเราขึ้นมาได้ ในแต่ละครัวเรือนก็เหมือนกัน ในแต่ละคนก็เหมือนกัน ต้องเจริญจากภายใน อย่าให้มีใครมาพอก อย่าให้มีใครมาสั่ง สั่งทำเหมือนกันทั้งหมด ๔๐,๐๐๐ โรงเรียน อันนั้นไม่ถูก เป็นการเอาภายนอกมาพอก สิ่งที่จะเรียกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เน้นย้ำตรงนี้ว่า ต้องให้ระเบิดจากภายใน
ข้อสอง การพัฒนาต้องเป็นลำดับขั้นตอน ไม่ใช่ก้าวกระโดดข้าม อันนี้พูดแล้ว ถ้าก้าวกระโดดข้าม แต่อีกอันที่ทรงเตือนคือ ถ้ามีปัญหาทุกข์ร้อนเฉพาะหน้า ต้องแก้ปัญหานั้นก่อน เพื่อให้ร่างกาย จิตใจมีกำลังที่จะพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไป หรือถ้าจะสร้างบ้าน ก็ต้องก่อรากฐานก่อน มิฉะนั้นจะติดตั้งเสาหรือโครงหลังคาได้อย่างไร หากประยุกต์ใช้กับกรณีเด็กนักเรียนที่หิวข้าวหรือขาดอาหาร ก็ย่อมเรียนไม่รู้เรื่อง อันนี้โครงการอาหารกลางวันจึงเกิดขึ้น อันนี้ก็ไปรวบรวมมาตามโครงการในพระราชดำริ แล้วสรุปมา ก็ขอฝากครูและผู้บริหารที่นี่ด้วยว่า อย่าก้าวกระโดด ข้อแรกสุดต้องทำความเข้าใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมันคืออะไร เข้าใจให้ตรงกันในโรงเรียนเดียวกัน ถ้าเข้าใจไปคนละแบบ เวลากำหนดกิจกรรมก็จะยุ่งหมด เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ตรงกันและอย่าข้ามขั้น
ข้อสาม เน้นเรื่องความสามารถพึ่งตนเองเป็นมาตรฐานขั้นต้น ท่านรับสั่งว่า การพึ่งตนเองได้เป็นมาตรฐานขั้นต้นของความเจริญ ทรงแนะนำแก่นักพัฒนาว่า

เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถพึ่งตนเองต่อไปได้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะให้ของแก่เขาอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเขาอ่อนแอ ไม่ใช่ ต้องทำให้เขาเข้มแข็ง คิดได้เอง การพึ่งตนเองได้ ไม่ได้หมายความว่า ฉันไม่คบกับคนอื่น เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าใครพึ่งตนเองได้ จึงจะ ร่วมมือกับคนอื่นได้รู้เรื่องได้เต็มที่ เพราะคนที่พึ่งตนเองได้ จะลดอัตตาได้มาก
ข้อสี่ ศึกษาทดลองจนหาวิธีที่เหมาะสม โดยเริ่มจากขนาดเล็กก่อน กลับไปจากที่นี่ กลับไปจากอ่าวคุ้งกระเบนฯ กลับไปจากโรงเรียน อย่าเพิ่งไปทำอะไรที่มันโครมคราม ใหญ่โต ทรงแนะนำว่าให้เริ่มจากขนาดเล็กก่อน เป็นสิ่งจำเป็นในระยะแรกๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการค้นคว้าทดลองเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงหารือ ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ แล้วทรงแก้ไขดัดแปลงวิธีการอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อทรงแน่พระทัยว่า โครงการนั้นได้ผลดี จึงทรงได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในภายหลัง ตรงนี้หลายคนที่เป็นชาวต่างประเทศบอกว่า เข้าไปที่วังสวนจิตรฯ จะเป็นพระราชวังที่แปลกกว่าพระราชวังของประเทศอื่นๆ เพราะมีแปลงทดลองอยู่เยอะ จึงให้เริ่มจากเล็กก่อนจนแน่ใจ เพราะฉะนั้นกลับไปที่โรงเรียน อย่าเพิ่งไปโครมคราม เอาให้แน่เสียก่อน แล้วก็ค่อยช่วยกัน วางแผนว่าเราจะทำอย่างไร
ข้อห้าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ตรงนี้ดีมากเป็นกระแสพระราชรับสั่งที่ดีมากว่า ทรัพยากรธรรมชาติคือต้นทุนหลักของการสร้างความเจริญทั้งปวง ถ้าทำลายต้นทุนหลักลงเรื่อยๆ ความเจริญก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงปรับปรุงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ เช่นป่าไม้ แหล่งน้ำ ดิน เป็นต้น อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตรงนี้ขอฝากว่า ถ้าจะเอาปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงไปใช้ที่โรงเรียน แล้วทำให้โรงเรียนต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แสดงว่า ผิดทาง แต่ตรงข้าม ถ้าท่านสามารถจะเอาไปใช้แล้วไปดึงทรัพยากรธรรมชาติให้ฟื้น กลับมา อย่างที่เรากำลังจะไปดูที่โรงเรียนมกุฏเมืองฯ นี้นับว่าถูกต้อง เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุนหลักของการสร้างความเจริญทั้งปวง เป็นการสร้าง เป็นการฟื้นต้นทุนหลัก
ข้อหก การพัฒนาที่ดีต้องไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สภาพแวดล้อม การพัฒนาที่ขาดความระมัดระวังจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ฉะนั้น อย่างเช่น พื้นบริเวณที่สกปรกด้วยขยะและสิ่งรกรุงรัง เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น การปรับปรุงแก้ไขให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ถือเป็นการพัฒนาด้วยเช่นกัน กลับไปที่โรงเรียน เราอาจจะไปเริ่มจากจุดซึ่งมันมีมลภาวะอยู่แล้ว แล้วเราเอากิจกรรม เอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อจะแก้ มลภาวะนั้น พระองค์ท่านรับสั่งว่า การเปลี่ยนมลภาวะให้กลับมาเป็นสิ่งที่ดีงามอีก ให้กลับมาฟื้นธรรมชาติเดิม ก็ถือเป็นการพัฒนาด้วยเหมือนกัน ควรต้องทำอย่างยิ่ง หลักวิชาข้อนี้อาจประยุกต์ใช้กับการที่บุคคลทำการพัฒนาเรื่องต่างๆ ของตนเอง แต่สร้าง ผลกระทบข้างเคียงกับผู้อื่นก็ไม่ผิด ต้องแก้ไข ต้องระมัดระวัง ถ้าเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องแก้ไข

ข้อเจ็ด การพัฒนาจะได้ผลดี ต้องเป็นไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ของท้องถิ่น ข้อนี้สำคัญสุด ข้อนี้ที่ ดร. สุเมธฯ พยายามไปพูดในหลายๆ ที่ว่า การดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ๓๐๐๐-๔๐๐๐ โครงการทั่วประเทศ ทรงตระหนักถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่นซึ่งไม่เหมือนกัน ทรงใช้ทางภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ ดร. สุเมธ ตอนหลังท่านใช้คำว่า ภูมิสังคมศาสตร์ แล้วตัดให้สั้นขึ้นอีก เหลือเพียง ภูมิสังคม กรอบแนวคิดเรื่องที่ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ของทุกท้องที่ไม่เหมือนกัน ขณะนี้เป็นที่ยอมรับกัน โรงเรียนนี้ทำกิจกรรมนี้สำเร็จ โครงการนี้สำเร็จ เวลาเราไปทำที่โรงเรียนเราอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ เพราะอะไร เพราะสภาพภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ไม่เหมือนกัน จึงอยากให้แต่ละโรงเรียน ต่างคนต่างคิด บนฐานของภูมิสังคมที่ไม่เหมือนกัน หลักอันเดียวกัน หลักคิดหรือหลักวิชาเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเดียวกัน แต่หลักปฏิบัติหรือกิจกรรมต่างกันได้ เพราะว่า ภูมิสังคมเราไม่เหมือนกัน เดี๋ยวเราไปดูงานเสร็จ แล้วก็ให้ถามตนเอง หรือ โรงเรียนทั้ง ๘-๙ แห่ง ที่มานำเสนอนี้ มันจะมีความแปลก มีความแตกต่าง เราก็ได้เรียนรู้ตรงนั้น เมื่อเรากลับไป เราก็ไปสร้างกิจกรรมของตนเอง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของดิน น้ำ ป่าไม้ทรัพยากรต่างๆ คำนึงถึงนิสัยใจคอของคนว่า เขาคิดอย่างไร เราจะไปเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างในทันทีไม่ได้ เราต้องไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วเราก็อธิบายให้เข้าใจว่า จะบรรลุความต้องการนั้นได้อย่างไร กระแสรับสั่งตรงนี้ สะท้อนพระราชหฤทัยของ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเชื่อว่า คนทุกคนคิดดี คนทุกคนต้องการในสิ่งที่ดีกับส่วนรวม เราต้องไปอธิบายให้ฟังว่าจะบรรลุความต้องการนั้นได้อย่างไร และกลับไปที่โรงเรียน ก็ต้องไปคุยกับครู หารือกับนักเรียน ให้ครูได้ออกความเห็น ให้นักเรียนได้ออกความเห็นว่า อะไรคือสิ่งดีงามของโรงเรียนนี้ แล้วให้ลองดูว่า ถ้าทุกคนเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วจะนำหลักนี้ไปเป็นแกนความคิดในการทำกิจกรรมนั้นได้ไหม ตรงนี้คือสิ่งที่ท้าทายการมาของพวกเราใน ๒ วันนี้
ข้อแปด การพัฒนาจะได้ผลดีต้องอาศัยหลักวิชาและเทคนิควิธีที่เหมาะสม การแสวงหาหลักวิชาและเทคนิควิธีที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกเรื่องหรือทุกด้านของการพัฒนา และมิใช่จะมาจากตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการคิดพินิจพิเคราะห์ถึงความเป็นเหตุเป็นผล ฟังให้ดี ตรงนี้จะสะท้อนกลับไปที่ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงเรื่องความมีเหตุผล ต้องสังเกตและปฏิบัติจนเกิดความแน่ใจของตนเอง ตำราเป็นฐานความรู้ แต่ต้องระวังว่าตำราเก่าหรือตำราทันสมัย ความรู้นั้นเปลี่ยนไป หรือยัง เพราะความรู้นั้นเปลี่ยนง่าย มนุษย์สร้างความรู้ใหม่ได้ ตำราไม่ใช่เอาตำรา อย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาตำรา เอาตำรา แต่ต้องเอาอย่างอื่นด้วย ต้องสังเกตพินิจพิเคราะห์ถามความมีเหตุมีผลด้วย แล้วก็ที่จริงเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญา

ท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่ เขาก็มีวิธีทำงานของเขาอยู่เหมือนกัน ต้องเอามาศึกษาด้วย เอามาผสมผสานกัน
ข้อเก้า การพัฒนาจะได้ผลดี ต้องทำเป็นรูปแบบโครงการ คือจัดให้การพัฒนาแต่ละเรื่องเป็นหนึ่งโครงการ มีลักษณะเป็นหนึ่งหน่วยระบบเพื่อการทำงาน ทรงรับสั่งว่า โครงการเป็นหนึ่งหน่วยระบบของการทำงาน ซึ่งจริงๆโรงเรียนก็คุ้นอยู่ นักเรียนก็คุ้นอยู่แล้ว นักเรียนมีโครงการ มีโครงงาน คุ้นอยู่แล้วในระบบการศึกษาของเรา อันนี้ไม่ยาก แต่ทรงเตือนว่า ถ้าจะทำอะไรให้ทำเป็นรูปแบบโครงการ ถ้าต้องการผลดี มีลักษณะเป็นหนึ่งหน่วยระบบเพื่อการทำงาน มีผลผลิตที่คาดหวัง มีกระบวนการทำงานที่จัดขึ้น มีสิ่งป้อนที่จัดหามาป้อนมาสู่ระบบ มีการวางแผนโครงการ คือการออกแบบหน่วยระบบ ซึ่งต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน แล้วเมื่อโครงการดำเนินงานไปแล้ว สามารถประมวลผลและประสิทธิภาพได้ อันนี้ก็เป็นหลักที่พวกเราทำอยู่แล้ว
ข้อสิบ การพัฒนาจะได้ผลดี ต้องมีการประสานงานและการบูรณาการ สองคำนี้ไม่เหมือนกัน เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำงานร่วมกัน วิธีทำงานร่วมกันมี หลายวิธี วิธีหนึ่งเรียกว่าการประสานกัน อีกวิธีเรียกว่าการบูรณาการ คำว่าบูรณาการ ภาษาอังกฤษว่า Integration มันมาจากรากศัพท์ว่า Integer แปลว่า ๑.๐ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่ ๐.๙ ไม่ใช่ ๑.๑ เป็นหนึ่งเลย เป็นอันเดียวกัน Integration คือการนำเอาความคิดอ่านและปฏิภาณต่างๆของหลายฝ่ายมาผสมกัน มาผสมกันเป็นขนมเปียกปูน ไม่ใช่ขนมชั้น ผสมเป็นเนื้อเดียวกันและผนึกเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสม จะใส่น้ำตาล ใส่แป้ง ใส่กะทิ มะพร้าวเท่าไร ก็ว่ากันเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ชอบหวานไหม แต่ต้องมารวมกันเป็นหนึ่ง ส่วนประสานงานคืออะไร ประสานงานคือไม่มากเท่าผสมกัน ประสานเป็น Coordination คือการจัดให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แสดงบทบาทอย่างสอดรับกัน เหมือนนักดนตรีหลายคนที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ในวงเดียวกัน และเพลงเดียวกัน เพราะฉะนั้น กิจกรรมที่จะออกแบบที่โรงเรียนเมื่อเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ อาจจะเป็นบางส่วนของกิจกรรม หรือบางกิจกรรมอาจจะร่วมมือกันในลักษณะของ การประสานก็ได้ บางอย่างจะรวมกันในลักษณะของบูรณาการก็ได้ ขอให้แยกกันตรงนี้ให้ชัดเจน คนไทยสมัยนี้ใช้ปนกัน ใช้คำว่าบูรณาการในทุกเรื่อง ที่จริงไม่ใช่ ไม่ทุกเรื่อง บางอย่างก็ประสานกัน
ข้อสิบเอ็ด โครงการพัฒนาจะดำเนินการได้ดีต้องมีสำนักงานรับผิดชอบ อันนี้ภายใต้การบริหารโรงเรียน อาจจะเป็นคนเดียวก็ได้ที่เป็นสำนักงาน หรืออาจจะเป็นคณะกรรมการฯ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานจริงๆ แต่ถ้าเป็นโครงการที่ถาวรยาวนาน แล้วเชื่อว่าจะต้องประสานกันเยอะ บูรณาการกันเยอะ อาจจะต้องมีสำนักงาน
๑๐
ข้อสิบสอง การพัฒนาจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความขยัน อดทนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะการพัฒนาในเรื่องที่มีความสำคัญ หามีไม่ที่สำเร็จง่ายดาย มันต้องฝ่าฟันอุปสรรค ปัญหาต่างๆ มากมาย ความเพียรมานะ ผมแปลคำนี้ไม่ออก แต่ใครไปอ่านพระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้ ทั้งเรื่องเป็นเรื่องของความเพียรพยายามอย่างสูงส่งที่จะไปสู่เป้าหมาย ในเรื่องความเพียรพยายาม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ศัพท์ฝรั่งใช้คำว่า Perseverance คำว่า Perseverance นี้ไม่ใช่ Try อย่างเดียวเท่านั้น Try แปลว่า พยายามเฉยๆ จะเลิกเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ Perseverance นี้ไปนานมาก ต้องพยายาม อดทนมาก ว่ายน้ำ ต้องเจอเต่า เจอปลา เจอมรสุม ต้องฝ่าฟันเพื่อให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ทรงรับสั่งว่า การพัฒนาขั้นตอนแรกต้องอาศัยความขยันอดทนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน พวกเราที่มาทำงานในวันนี้ ในห้องนี้ ก็มีเป้าหมายร่วมกันอยู่คือ อยากเห็นการนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไป ทำอย่างไรให้เกิดผลกับระบบการศึกษา กับโรงเรียน ก็อยากจะฝากไว้ตรงนี้ว่า มันคง ไม่สำเร็จง่ายๆ เรามีอีก ๔๐,๐๐๐ กว่าโรงเรียน เพราะฉะนั้นใครที่ทำงานด้านนี้คงต้องใช้ความขยันอดทนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หรือโรงเรียนสังเกตการณ์ที่มาวันนี้ กลับไปแล้วจะไปเริ่มเปลี่ยนแปลงที่นั่น คนที่นั่นเขามีวัฒนธรรมเดิมเขาอยู่ และท่านจะต้องเจออุปสรรคมากมาย ก็อย่าถ้อทอยเสียก่อน เพราะว่าอย่างที่รับสั่งไว้ว่าการพัฒนาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความอดทนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อดทนอย่างหยุดๆ อย่างนั้นไม่ใช่
คราวนี้มาถึงตัวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อกี้อาจารย์จิรายุฯ ได้พูดกับพวกเรา บอกเราแล้วว่า สภาพัฒน์ได้ถวาย และได้ทอดพระเนตรและได้ทรงปรับแก้จนกระทั่ง เรียบร้อยแล้ว สภาพัฒน์เขาเลยไม่ยอมแก้อีก สภาพัฒน์เวลาพิมพ์เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะมีตีกรอบเพื่อไม่ให้ใครมาแก้อีก ก็ต้องเอากรอบตรงนั้นมา เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมได้นำกรอบตรงนั้นมา ผมไม่ได้เพิ่มแม้แต่คำเดียว ไม่ได้ตัดแม้แต่คำเดียว อยู่ในกรอบ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คำนำก็คือ เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลัง คือเมื่อหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นภายหลังจากเกิดวิกฤตแล้ว ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
มีคำอยู่ ๒-๓ คำ คือ กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ คืออะไร คำนี้ เราถอดมาจากภาษาฝรั่ง ฝรั่งเขาใช้คำว่า Globalization รากศัพท์ก็คือ Globe แปลว่า ลูกโลก โลกเราที่เป็นบริวารของพระอาทิตย์ และคำที่สองที่ใช้คำว่า Globe เป็นฐาน ก็คือ
๑๑
Globalize คือทำให้มันเคลื่อนไปทั้งโลก หรือกระทบไปทั้งโลก จริงๆ อาจจะไม่ต้องเคลื่อน แต่กระทบไปทั้งโลก ส่วน Globalization ก็เป็นคำนาม จากคำว่า Globalize ทำให้เป็น คำนามก็ตัด (e) ออก เติม (ation) เข้าไปก็เป็น Globalization คือปรากฏการณ์ที่มีสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เกิดที่จุดใดจุดหนึ่งขึ้นในโลก แล้วมันขยายผลไป เกิดผลไปทั่วโลก
สมัยก่อนที่การคมนาคมติดต่อสื่อสารยังไม่แพร่หลาย สมมุติ ๑๐๐ ปี ๗๐๐ ปี ๑๐๐๐ ปี ก่อนหน้านี้ ชุมชนใดประเทศใดมีอะไรเกิดขึ้นก็จะจำกัดอยู่เฉพาะชุมชนนั้น ประเทศนั้น แต่เมื่อมาถึงวันนี้ เทคโนโลยีของการขน ๓ ขน คือ ขนคน ขนของ และ ขนความรู้ มันไปอย่างรวดเร็ว ขนคนก็คือการคมนาคม ขนของคือการขนส่ง ขนความรู้ คือการโทรคมนาคม หรือ Telecommunications มีขนอยู่ ๓ ขนเท่านั้น ในโลกปัจจุบันและอนาคต มันจะสู้กันด้วย ๓ ขนนี้เท่านั้น สนามบินสุวรรณภูมิก็เป็นการขนคน กับขนของ AIS หรือ DTAC เป็นเรื่องของการขนภาพ ขนความรู้ ขนข้อความไปสื่อกัน รถไฟก็ขนคน ขนของ บขส. ก็เช่นเดียวกัน รถประจำทาง รถยนต์ที่เราวิ่ง จักรยานที่เราถีบ
ในโลก Globalization มันเกิดเพราะว่า อันที่หนึ่ง เทคโนโลยีในการขนคน ขนความรู้ ขนของ มันไปทั่วโลก อันที่สองมันไม่มี Political barriers อีกแล้ว ไม่มีสิ่งที่จะมาขวางการเคลื่อนตัวทางการเมือง ทางการเมืองนี้สั่งให้ขวางได้ สมมุติเราปิดประเทศ การขนต่างๆ ก็ไม่เข้ามา สมัยหนึ่ง โลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย ค่ายคอมมิวนิสต์ กับ ค่ายประชาธิปไตย แบ่งอยู่ ๔๕ ปี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเย็น ช่วงนั้นโลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย ประเทศไทยอยู่ในค่ายประชาธิปไตย ประเทศจีนอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศรัสเซียอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ การเดินทางระหว่างสองค่ายไม่ได้ ใครแอบไปเที่ยวเมืองจีนกลับมา สันติบาลก็จะเอาไปเข้าคุก เพราะฉะนั้นการ เคลื่อนไหวต่อกันก็แบ่งเป็น ๒ ส่วน แต่พอช่วง ค.ศ. ๑๙๙๐ หรือ ช่วง ๑๙๘๙-๑๙๙๐ ไม่มีกำแพงแบ่งระหว่างโลกสองขั้ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราจะไปทางเมืองจีนก็ได้ ไปทางรัสเซียก็ได้ เอาของไปขายก็ได้ ซื้อของเขามาก็ได้ เพราะฉะนั้นแรงกระทบของ Globalization ไปสู่ประเทศต่างๆ จึงรุนแรงกว่าเก่ามาก เพราะเราไม่ได้แบ่ง สรุปคือ อันที่หนึ่ง เทคโนโลยี การขนคน ขนของ ขนข่าวมันไปได้เร็วมาก และอันที่สองเราไม่ได้สร้างเครื่องกีดกันแล้ว
มีงานวิจัยง่ายๆ เขาไปถ่ายรูปห้องนอนของเด็กวัยรุ่นนักเรียนมัธยมปลายที่ประเทศอเมริกา ที่ญี่ปุ่น ที่อินโดนีเซีย อยู่ๆ ก็เปิดประตูห้องนอนเด็กเลยโดยไม่บอกแล้วก็ถ่ายวิดีโอไว้ทั้งสามชาติ เชื่อไหมว่า เหมือนกันเกือบหมด พอไปดูรองเท้าทั้งสามชาติ ก็ใช้ยี่ห้อ Nike ไปดูรูปดาราที่แปะตามผนังห้องนอนของเด็กทั้งสามชาติ ก็จะเป็นดาราฮอลลีวูด ส่วนใหญ่ แปลกมากตรงที่มันเป็นความเหมือนกัน แล้วก็เครื่องใช้ในห้องนอนของเด็กทั้งสามชาติก็เหมือนๆกัน Globalization ทำให้โลกเหมือนกันมากกว่าต่าง แต่ในขณะที่
๑๒
ประเทศต่างๆ จะพยายามคงความเป็นไทย คงความเป็นจีน คงความเป็นประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้เป็นสองกระแส
กระแสโลกาภิวัตน์นำทั้งของดีและของไม่ดีมากระทบกับความเป็นไทยของเรา กับชีวิตของเรา มันมีทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี ตรงนี้ที่ทรงรับสั่งว่า ทรงเน้นแนวทางแก้ไขที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โลกาภิวัตน์นำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาและเปิดโอกาสให้เรานำสิ่งต่างๆ ออกไปสู่โลกภายนอกด้วย มันมีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี เราจะมีเครื่องกรองทางวัตถุนิยม เราจะมีเครื่องกรองทางวัฒนธรรม และเราจะมี เครื่องกรองทางศีลธรรมอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ทรงเตือน ไม่เช่นนั้นเราจะล่มสลาย เราจะเกิดวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเราไม่มีอะไรที่เป็นความมั่นคง ใช้คำว่ามั่นคงและยั่งยืน เราจะมีความมั่นคงเหลืออยู่อย่างไร เราจะมีความยั่งยืนเหลืออยู่อย่างไร อันนี้เป็นคำถามที่ใหญ่มาก
อีกอันคือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จริงความเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เช่นเกิดขึ้นจากในครอบครัวเราเอง เผอิญพ่อซึ่งไม่เคยเล่นหวยเลย ตอนนี้บ้าหวย เกิดการเปลี่ยนแปลง แม่ซึ่งไม่เคยกินเหล้าเลย ตอนนี้กินเหล้า หรือว่าไปกินยาเสพติด เกิดการเปลี่ยนแปลง และครอบครัวจะล่มสลายไหม จะมีวิกฤตไหม อันนี้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอามาใช้ได้ทุกระดับเพราะเหตุนี้ เดี๋ยวจะมีเนื้อคือเนื้อของมันว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร แต่ตอนนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทำไมจึงได้ทรงรับสั่งให้คนไทยระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ คือทำอย่างไรจะอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมาจากนอกประเทศ และภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆซึ่งมาจากทั้ง ภายนอกและภายใน ภายนอกตัวเราและภายในตัวเรา หรือเราเกิดอยู่ๆ เปลี่ยนเป็น เด็กไม่ดี เคยเป็นเด็กดี เกิดวิกฤตขึ้นมาในชีวิต เราจะต้องมีภูมิคุ้มกัน ทรงรับสั่งว่าต้องมีภูมิคุ้มกัน ครอบครัวเราเหมือนกัน เป็นครอบครัวที่มั่นคง อบอุ่น รายได้พอเพียง อยู่ๆเกิดมีการเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว ทำให้ไม่อบอุ่น รายได้ไม่พอ เกิดวิกฤตในครอบครัว ทำอย่างไร โรงเรียนก็เหมือนกัน เคยเป็นโรงเรียนที่ดัง ที่เด่น ได้รางวัลอยู่เรื่อย พอเปลี่ยนผู้อำนวยการก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบ หรือโรงเรียนซึ่งได้ผู้อำนวยการดีมาก เปลี่ยนมาเป็นดี คือทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางลบแล้ว ไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตและสูญหาย ตายจาก เราต้องมีภูมิคุ้มกัน อันนี้เป็นอันที่ส่งเสริมพวกเรา ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อยากให้พวกเราสนใจประโยคนี้ ที่ทรงรับสั่งไว้
เป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เมื่อกี้บอกไว้แล้วว่า ผมได้เริ่มต้นว่า ทำอะไรต้องมีเป้าหมาย แล้วก็ต้องตอบคำถามว่า แล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมี เป้าหมายอะไร เมื่อกี้ผมลองกล่าวคร่าวๆ แล้ว คงจะเดาออกว่า เป้าหมายคืออะไร เป้าหมายคือ แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน การดำรงชีวิตอยู่และปฏิบัติตนเพื่อให้
๑๓
สมดุล ไม่มากไป ไม่น้อยไป และพร้อมต่อการรองรับ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางนี้ ทรงรับสั่งว่า ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงทั้งจากภายในและภายนอก มีทั้งทางด้านวัตถุ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นโครงการที่มกุฏเมืองฯ ทำเรื่องแม่น้ำประแส ถูกต้องตรงตามนี้ เพราะเป็นโครงการที่เน้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เดี๋ยวทั้ง ๙ โรงเรียนมานำเสนอกิจกรรม ให้พวกเราลองตรวจสอบว่าในกิจกรรม เหล่านั้นเป็นกิจกรรมที่มุ่งไปที่การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ฟังให้ดีว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ทำในโรงเรียนโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความ หลากหลายมาก และสามารถรวมได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและทางวัฒนธรรม ผมจำไม่ได้วันที่ ๔ ธันวาคม ปีไหน ทรงรับสั่งไว้ว่า ที่ตั้งชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง เพราะเริ่มทรงงานกับเกษตรกรที่ยากจน แล้วก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจของเกษตรกร จึงทรงใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง และผสมผสานว่า สามารถใช้ได้ทุกด้าน เราฟังเราก็อาจจะสงสัยว่า เราจะเอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในแต่ละคน ได้อย่างไร ใช้ได้ เพราะกิจกรรมก็มี ๔ กลุ่มกิจกรรม ไม่หนีไปไหน ใช้ได้ทุกด้าน
เพราะฉะนั้น เป้าหมายอยู่ตรงนี้ คือ การดำรงอยู่และและปฏิบัติตน การดำรงชีวิตอยู่และปฏิบัติตนเพื่อให้สมดุล ไม่มากไป ไม่น้อยไป และพร้อมต่อการรองรับการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอก เพราะฉะนั้น ก็มีเป้าหมายแล้ว
ทีนี้พื้นฐานคืออะไร พื้นฐานคือ เงื่อนไขเบื้องต้นก่อนนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงไปใช้กับคนนั้น ครอบครัวนั้น โรงเรียนนั้น ธุรกิจนั้น บริษัทนั้น สมาคมนั้น ชุมชนนั้น อันนี้คือพื้นฐาน คือต้องสร้างตรงนี้ก่อน แล้วค่อยเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จึงจะได้ผล ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีพื้นฐานตรงนี้ เอาไปใช้ก็ไม่ได้ผล อยู่ๆ มีบริษัทมือปืนรับจ้างฆ่าคน แล้วบอกว่าจะเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้วต้องให้ได้ผล ตรงนี้พอไปดู พื้นฐานแล้วไม่ใช่ ใช้ไม่ได้
เรามาดูซิว่าพื้นฐานก่อนใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องมีพื้นฐานอันนี้ ทรง รับสั่งไว้ว่าอย่างนี้ว่า จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี คืออาจารย์ ครูบาอาจารย์ และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกใน คุณธรรม ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม คราวนี้ถ้าจะเอาไปใช้ในโรงเรียน อาจจะต้องมีการเปลี่ยนคำว่า ต้องเสริมสร้างพื้นฐาน
๑๔
จิตใจของคนในโรงเรียน โดยเฉพาะผู้บริหาร ครูบาอาจารย์ และนักเรียนทุกคน ภารโรงด้วย ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมตามหลักวิชา
วันก่อนไปพูดที่สมุทรสงคราม และมีพระมานั่งฟังด้วย ผมก็พูดว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น บทบาทของศาสนา ของพระและศาสนธรรม ต้องเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนคริสเตียนก็ดี โรงเรียนมุสลิมก็ดี โรงเรียนพุทธก็ดี ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงทรงเน้นในเรื่องของพื้นฐานการมีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ต้องเอาเข้ามาด้วย สรุปแล้วเอาไปใช้ในวัดได้ แต่พวกเรายังไม่กล้า เดี๋ยวจะโดนตะเพิดออกมา แต่จริงๆ มีพระหลายรูปที่เปิดกว้าง มาศึกษาและขอนำไปใช้ สำคัญต้องปูพื้นฐานจิตใจให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม คือหลักวิชาที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน พากเพียร มีสติปัญญาและความ รอบคอบ ถ้าดำเนินชีวิตด้วยความขี้เกียจ ไร้สติ ไร้ปัญญา ไร้ความระมัดระวัง แล้วบอกว่าจะใช้ปรัชญาให้ได้ผล คงไม่ได้ อันนี้เป็นความจำเป็นพื้นฐาน เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน เป็น Preconditions ก่อนจะนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ต้องมีการเสริมสร้าง พื้นฐานจิตใจให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบรู้ที่เหมาะสม และดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ
ต่อไปคือหัวใจของเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร จริงๆ แล้วง่าย นิดเดียว หน้าเดียว มีหลักการ หลักวิชา และหลักปฏิบัติ หลักการใหญ่ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีคำๆเดียวเท่านั้นเองคือ ทางสายกลาง ทางพระเรียกว่า มัฌชิมาปฏิปทา มัฌชิมาแปลว่ากลาง ปฏิปทาแปลว่าฐาน มัฌชิมาปฏิปทา ธรรมะที่เกี่ยวกับ ทางสายกลาง เขาเรียกว่า มัฌเชนธรรม คือทางสายกลางนั่นเอง อีกอันนอกจาก ทางสายกลางแล้ว ก็ให้มีหลักวิชาเพื่อจะหนุนในเรื่องความมีเหตุผล หลักวิชาคือ ต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน แค่นี้เฉพาะแค่ ๒ ประโยคครึ่ง ถ้าใครนำไปใช้กับตัวเองก็มีประโยชน์แล้ว ทรงรับสั่งไว้ดีเหลือเกิน คือว่า ต้องอาศัยความรอบรู้ รอบรู้คือต้องรู้ในหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ ต้องเป็นรู้ที่รอบคอบ ไม่ใช่รู้ ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นเป็นพอ ต้องรอบรู้และรอบคอบด้วย และต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะนำหลักวิชาต่างๆ มาใช้ ในการวางแผนและในการดำเนินการ ตกลง หลักการคือ ทางสายกลางเป็นหลักใหญ่ ทำอะไรอย่าสุดโต่ง อันที่สองคือ ขอให้มีหลักวิชา หลักวิชานี้ขยายความว่า ขอให้มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ในการนำหลักวิชาไปใช้ในการ วางแผนและดำเนินการ
ทีนี้คำว่าพอเพียง หลักปฏิบัติคำว่าพอเพียงก็ขยายความว่า มี ๓ เรื่องด้วยกัน อันที่หนึ่งคือความพอประมาณ หมายถึงปริมาณพอดี อันที่สองคือมีเหตุผล เราบอกว่าพอประมาณแล้ว คำถามที่จะถามตามมาคือ ถ้าจะทำอย่างนี้ ไม่ทำมากเกิน น้อยเกิน
๑๕
คำถามที่สองคือ แล้วเหตุผลที่ทำอย่างนี้คืออะไร เหตุผลที่ทำอย่างนี้คืออย่างนี้ แล้วอันที่สามคือต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก มีระบบภูมิคุ้มกัน มีเผื่อไว้เผื่อไม่ให้เกิดวิกฤต เผื่อว่ามันกระทบแรงกว่าที่คาดไว้ ตอนวางแผนนี่เราอาจจะวางแผนผิด วางแผนไม่ รอบคอบก็ยังมีอะไรเผื่อไว้บ้าง เช่น ในกระเป๋ายังมีอะไรเผื่อไว้บ้าง ไม่ใช่เล่นหวยจน หมดตัว เราเอาหลักทั้ง ๓ หลักไปใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร โรงเรียนก็ดี ในทุกกิจกรรม ใช้ได้หมด
ขออนุญาตจบ แต่จริงๆ ขอฝากอีกนิดหนึ่ง คือเอกสารเผยแพร่ของมูลนิธิโครงการหลวง เขาจะพิมพ์แนวปฏิบัติพระราชทานให้กับคนที่ทำงานโครงการหลวงไว้ ท่าน พระราชทานไว้ ๔ ข้อด้วยกัน อันที่หนึ่ง คือ ลดขั้นตอน โดยเฉพาะราชการหรือเอกชน ที่ตั้งมานาน ซึ่งมีขั้นตอนเยอะ อันที่สอง ทรงรับสั่งว่า เร็วๆ เข้า ให้รอบคอบในการ วางแผน ในการดำเนินการ แต่ว่าขอให้วางแผนเร็วหน่อย ขอให้ดำเนินการเร็วหน่อย เร็วๆเข้าไม่ได้ค้านกันกับเรื่องความระมัดระวัง จากเล็กไปใหญ่ เป็นคนละเรื่องกัน อันที่สาม ช่วยเขาช่วยตนเอง อันที่สี่ที่สำคัญมาก คือปิดทองหลังพระ ทรงรับสั่งไว้หลายที่เรื่อง ปิดทองหลังพระ มีอยู่อันหนึ่ง ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน แต่จำกระแสพระราชดำรัสได้ ทำนองว่า หน้าพระมีคนปิดเยอะแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเราให้ช่วยกันปิดทองหลังพระ ไม่เช่นนั้น พระจะไม่เป็นทองทั้งองค์ เพราะฉะนั้น การทำงานเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คล้ายๆกัน บางครั้ง เราอาจต้องถามตนเองว่า เราจะมีมานะอดทน ทำอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน บางครั้งไปเจออุปสรรค เราอาจจะต้องถาม หรือบางทีงานที่เราทำอาจจะไม่ใช่งานปิดทองหน้าพระ แต่เป็นงานปิดทองหลังพระ เราอาจจะถามว่าแล้วเราทำไปทำไม บางทีถ้ารำลึกถึงแนวปฏิบัติที่ได้พระราชทานมา อาจจะทำให้เรามีกำลังใจขึ้นได้ เราอยากให้พระปิดทองทั้งองค์ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็เราต้องมาช่วยกันปิดทั้งหน้าพระ และหลังพระ ขอขอบคุณครับ